วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การอ่านสะกดคำและแจกลูก

     การแจกลูก หมายถึง การเทียบเสียง เริ่มต้นจากการสอนให้จำและออกเสียงคำ แล้วนำรูปคำซึ่งเปรียบเสมือนแม่มากระจายหรือแจกลูก โดยการเปลี่ยนสระ หรือเปลี่ยนพยัญชนะต้น หรือเปลี่ยนพยัญชนะท้าย(ตัวสะกด)

การแจกลูกมีวิธีการดังนี้

1. ยึดพยัญชนะต้นเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนรูปสระ เช่น กะ กา กิ กี กึ กื กุ กู

2. ยึดสระเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนพยัญชนะต้น เช่น กา ขา คา งา ตา นา ทา วา

3. ยึดสระและตัวสะกดเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนพยัญชนะต้น เช่น กาง ขาง คาง งาง ตาง นาง ทาง วาง

4. ยึดพยัญชนะต้นและสระเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนตัวสะกด เช่น คาง คาน คาย คาว คาก คาด คาบ

            ข้อเสนอแนะวิธีการฝึกแจกลูก

1. ออกเสียงพยัญชนะก่อนออกเสียงสระแล้วออกเสียงคำไม่ว่าสระจะอยู่หน้า  หลัง  บน  ล่างหรือสระประสม เช่น   ก อา กา        ป ไอ ไป   เป็นต้น

2. ไม่ออกชื่อพยัญชนะ สระ เพราะจะทำให้เสียงไม่ต่อเนื่องกับเสียงคำที่อ่าน  เช่น ม ม้า สระ อา -  มา   ต้องอ่าน   ม อา มา  ยกเว้นสะกดคำยากและต้องการบอกให้ผู้ฟังออกเสียงสะกดตัวให้ถูกต้องตามต้องการ

3. การแจกลูกคำที่มีตัวสะกดและสระลดรูปหรือสระที่เปลี่ยนรูปไปนั้นสอนได้หลายวิธี เช่น วิธียึดรูปอักษรที่มองเห็นเพื่อให้อ่านได้เร็ว 

            คน       ออกเสียงว่า     ค คน

            แข็ง     ออกเสียงว่า     แขง ไม้ไต่คู้ แข็ง

    หรือใช้วิธีประสมอักษรหรือการกระจายอักษรตามหลักภาษาเป็นหลัก เช่น

            คน       ออกเสียงว่า     ค โอะ คน  (สระโอะลดรูป)

            แข็ง     ออกเสียงว่า      ข แอะ แข็ง (แอะ  เปลี่ยน  อะ  เป็นไม้ไต่คู้)

4.  ควรพยายามออกเสียงให้น้อยพยางค์ที่สุดเพราะการออกเสียงหลายพยางค์จะทำให้อ่านซ้ำแต่ถ้าอ่านคำเดิมไม่ได้ให้แจกลูกตั้งแต่ต้น ยกเว้นคำบางคำที่จะทำให้จำสับสน

เช่น คน   กับ  คอน ให้ออกเสียงแจกลูกคำ   คน  =  ค คน  ส่วน   คอน =  ค ออ น -  คอน

5. คำบางคำออกเสียงไม่ตรงตามรูปหรือเป็นคำยากสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด ก็ใช้วิธีสะกดคำหรือบอกคำอ่านให้ เช่น  จร    อ่านว่า  จอน  เป็นต้น

6. ถ้าจะให้จับหลักเกณฑ์การแจกลูกได้แม่นยำ ควรใช้พยัญชนะ สระทุกตัวและฝึกปากเปล่าทีละระดับเสียงเมื่อคล่องพอจึงควรฝึกปนกัน

7. การฝึกให้คล่องต้องฝึกปากเปล่าและแจกลูกให้เร็วที่สุด การฝึกปากเปล่าจะใช้คำที่มีหรือไม่มีความหมายก็ได้ แต่ถ้าฝึกให้เห็นคำควรเลือกฝึกเฉพาะคำที่มีความหมาย


8. การเขียนคำเน้นคำที่มีตามประมวลคำของแต่ละช่วงชั้น ส่วนคำนอกประมวลคำให้ใช้ประกอบการฝึกทักษะการอ่านและการแจกลูกเท่านั้น


                                                              วีดีโอสอนเพิ่มเติม

                                                      




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น